เราก็คงจะเห็นโพสต์ต่างๆที่เกี่ยวกับการ “แฉ” ทั้งเพื่อความสะใจ หรือต้องการทำให้อีกฝ่ายอับอาย แต่ทำไมในเมื่อหลายคนรู้อยู่แล้วว่าการแฉ เป็นเรื่องที่อาจสร้างผลกระทบให้กับทั้งตัวเองและผู้อื่น เช่นการทำผิดกฎหมายหรือการถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบ แต่ทำไมหลายคนก็ยังเลือกที่จะทำอยู่ ตัวอย่างเช่น นาย A กล่าวหาว่า นาย B ที่เป็นบุคคลผู้มีชื่อเสียง ได้มีการทำร้ายร่างกายนาย A ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ โดยใช้วิธีการโพสต์เกี่ยวกับรูปถ่ายบาดแผล หรือหลักฐานอะไรที่จะสื่อถึงว่า นาย B ทำร้ายร่างกายนายเอ ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ
ซึ่งจากตัวอย่างดังกล่าว หากหลักฐานของนาย A จะเป็นความจริงทั้งหมด และนาย A ถูกทำร้ายร่างกายจากนาย B จริงๆ สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้กระทำผิดในคดีอาญาเพิ่มเติม สามารถใช้ ป.วิอาญา มาตรา 44/1 ในการเรียกร้องค่าเสียหายหรือสินไหมทดแทนตามความเสียหาย หรือใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 444 ในการเรียกร้องทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ ค่าขาดประโยชน์ในช่วงที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ หรือค่าเสียหายอื่นๆที่เกี่ยวข้องได้ในทางแพ่ง
ส่วนในฝั่งของนาย B ที่เป็นบุคคลผู้มีชื่อเสียง ที่แม้ว่ามีการกระทำผิดในข้อหาทำร้ายร่างกายจริง แต่นาย B ก็สามารถฟ้องนาย A กลับด้วยข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา และยังสามารถเรียกค่าเสียหายในทางแพ่ง ในฐานความผิดเรื่องการละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 ที่จะสามารถเรียกร้องค่าสินไหมได้ อย่างกรณีของนาย B ที่เป็นบุคคลผู้มีชื่อเสียง จากโพสต์และโซเชียลมีเดียของนาย A ก็อาจสร้างผลกระทบให้กับนาย B เช่น ไม่สามารถรับจ้างทำงานได้ โดนหยุดพักงาน โดนเลื่อนงาน โดนยกเลิกงาน หรือสภาพจิตใจที่แย่ลง ทำให้เสียรายได้จากประกอบอาชีพและเสียชื่อเสียงไปด้วย โดยค่าสินไหมดังกล่าวจะคิดจากความเสียหาย ซึ่งอาจสามารถตีเป็นมูลค่าได้มากกว่าการเรียกร้องค่าเสียหายของนาย A ในกรณีถูกทำร้ายร่างกาย
เพราะหากเทียบกันแล้วในเรื่องค่าเสียหายระหว่างคดีทำร้ายร่างกายที่จะสามารถเรียกร้องได้ทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ ค่าขาดประโยชน์ในช่วงที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ หรืออื่นๆ ก็อาจมีการเรียกร้องได้ตั้งแต่หลักพันถึงหลักล้านต้นๆ แต่เมื่อเทียบกับค่าเสียหายจากคำกล่าวหาของนาย A ที่มีการเผยแพร่ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ๆ อาจสามารถตีมูลค่าความเสียหายได้ตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักหลายล้านตามแล้วแต่ชื่อเสียงของผู้ถูกกล่าวหา แล้วหากมีข้อพิสูจน์ว่า เรื่องที่นาย A ได้เผยแพร่ เป็นเรื่องจริงนาย B ก็อาจได้รับผลกระทำตามไปด้วย ทำให้มูลค่าความเสียหายที่สามารถเรียกร้องได้ก็เพิ่มตามไปด้วย ซึ่งเมื่อเทียบกับมูลค่าความเสียหายในกรณีถูกทำร้ายร่างกายก็จะสามารถตีมูลค่าค่าความเสียหายได้น้อยกว่า
แต่ในทางกลับกันบุคคลที่เป็นเหยื่อต้องการฟ้องร้องในข้อหาทำร้ายร่างกาย โดยอยู่ท่ามกลางเสียงวิจารณ์เชิงลบจากแฟนคลับของบุคคลผู้มีชื่อเสียง หรือสังคมต่างๆ ทำให้ในบางทีก็ต้องพิสูจน์ความจริงกับแฟนคลับที่แม้จะไม่เปิดใจฟัง แต่เหยื่อเองก็ต้องมานั่งคอยอธิบายซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนสุดท้ายก็อาจเผลอเปิดเผยข้อมูลหรือหลักฐานสำคัญที่ทำให้สามารถแพ้คดีได้ แต่เหยื่อหลายคนในเมื่อรู้อยู่แล้วว่าจะแพ้คดี แต่ก็ยังเลือกที่จะทำอยู่ก็อาจจะเพราะในระหว่างที่เขาต่อสู้คดีกับบุคคลผู้มีชื่อเสียง เขาอาจต้องทนเห็นผู้กระทำประสบความสำเร็จหรือเป็นที่รักของคนในสังคม เสียงวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบจากสังคม ทั้งที่ในความเป็นจริงเขาเป็นผู้ถูกกระทำ แต่เหยื่อกลับต้องอยู่กับความทรงจำที่ถูกกระทำตามหลอกหลอนอยู่ตลอดเวลา ทำให้เหยื่อหลายคนจึงเลือกวิธีที่การ “แฉ” ที่แม้จะรู้ว่า ผิด แต่ก็ยังทำ เพราะต้องการกระชากภาพจำหรือความสุขเหล่านั้นที่ผู้กระทำได้รับ และมูลค่าความเสียหายของเงินที่ไม่อาจตีความได้ทางทรัพย์สิน แต่อาจได้มาจากการที่เห็นผู้กระทำได้รับรู้ถึงความรู้สึกที่ผู้ถูกกระทำได้รับไม่มากก็น้อย
ซึ่งผู้เขียนก็ไม่ได้จะสื่อว่า ผู้ถูกกระทำจะพูดความจริงหรือถูกต้องเสมอไป เพราะในบางมุมของผู้ที่ถูกอ้างเป็นผู้กระทำก็อาจเป็นเหยื่อเช่นกัน แต่กว่าจะมีข้อพิสูจน์ที่แน่ชัดว่าใครถูกกระทำกันแน่ ฝ่ายที่ถูกกระทำที่แท้จริงก็อาจมีบาดแผลทางใจหรือทางกายที่หนักหนาสาหัสก่อนที่ความจริงจะเปิดเผย ทำให้เราถึงควรที่จะเข้าใจว่าการ “แฉ” อาจเป็นหนทางที่จะบรรเทาความทุกข์ของเหยื่อได้ในระดับหนึ่ง แม้ว่าจะไม่ทั้งหมดก็ตาม และเมื่อความจริงปรากฏเด่นชัด ก็จะเป็นตัวบ่งบอกเองว่า สิ่งที่เหยื่อและผู้กระทำเคยได้พูดนั้นเป็นความจริงมากแค่ไหน
コメント