top of page

Law Inspired Ep.1 - อัยการเบอร์ดี

ทำความรู้จักกับ Law Inspired ท่านนี้


เบอร์ดี้ กนกรัตน์


ประวัติการศึกษา

  • นิติศาตร์บัญฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกรดเฉลี่ย 3.78 เกียรตินิยมอันดับ 1

  • ปริญญาโท นิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกรดเฉลี่ย 4.00

  • เนติบัณฑิตไทยรุ่นที่ 72

  • สอบผ่านใบอนุญาตให้เป็นทนายความ

  • อัยการผู้ช่วยรุ่นที่ 62


ทำไมถึงเลือกเรียนคณะนิติศาสตร์ ?

ตอน ม.6 ก็เหมือนกับเด็กทุกคนที่กำลังนั่งคิดว่าเราจะเข้าคณะอะไรดีเรียนอะไรดี ตอนนั้นเราเรียนสายวิทย์-คณิตด้วยมันก็จะมีอาชีพที่หลากหลายให้เลือกเยอะ ทั้งอาชีพสายวิทย์ที่เป็นทางวิทยาศาสตร์เลยและอาชีพที่มาทางสายศิลป์ อย่างคณะนิติศาสตร์ก็จะเป็นอาชีพที่ไม่ได้มีความวิทยาศาสตร์เหมือนที่เรียนมาตอน ม.ปลาย เพื่อนๆ ในห้องส่วนใหญ่ก็จะเรียนไปทางสายวิทย์มากกว่า เช่น แพทย์ วิศวะ ทันตแพทย์ 

แต่ส่วนตัวเรามีความสนใจด้านคณะนิเทศศาสตร์แต่เนื่องจากทางครอบครัวเรียนคณะนิติศาสตร์และทำงานเกี่ยวกับสายกฎหมายกันหมด เลยอยากแนะนำให้เราลองเรียนดูเพราะคณะนิติศาสตร์ก็เป็นคณะที่น่าสนใจทำให้เรารู้กฎหมายประกอบกับในอนาคตเราก็คิดว่าอาจจะมีโอกาสได้ทำงานในทางการเมืองเลยทำให้รู้สึกว่าการเรียนคณะนิติศาสตร์มีประโยชน์ในการต่อยอดสู่อนาคต และไม่ว่าจะไปประกอบอาชีพไหนถ้าเรามีความรู้ด้านกฎหมายเป็นพื้นฐานอยู่แล้วก็สามารถเอาความรู้ที่มีอยู่ติดตัวนี้ไปประกอบอาชีพอื่นๆ ได้ เหตุผลทั้งหมดทำให้เรารู้สึกสนใจคณะนิติศาสตร์ขึ้นมาและตัดสินใจที่จะเรียนคณะนี้ค่ะ

ไม่ว่าจะไปประกอบอาชีพไหนถ้าเรามีความรู้ด้านกฎหมายเป็นพื้นฐานอยู่แล้วก็สามารถเอาความรู้ที่มีอยู่ติดตัวนี้ไปประกอบอาชีพอื่นๆ ได้

สิ่งที่อยากแนะนำสำหรับน้องๆ ที่จะเลือกเรียนคณะนิติศาสตร์

หลายๆ คนที่เคยได้ยินเกี่ยวกับคณะนิติศาสตร์หรือเคยเห็นหลายๆ คนที่จบจากคณะนิติศาสตร์มักจะพูดว่า "เป็นคณะที่อ่านหนังสือหนัก"  เรื่องนี้คิดว่าแล้วแต่มุมมองของแต่ละคน อย่างในมุมของเราจะมองว่าเป็นคณะที่ต้องอ่านหนังสือเยอะ คำว่า "เยอะ" ในที่นี้หมายถึงต้องอ่านในแง่ของกฎหมายที่เป็นตัวหนังสือ เป็นตัวบทกฏหมายซึ่งมันจะมีความจริงจัง มีการใช้คำศัพท์เฉพาะทำให้เราต้องอ่านหนังสือกฎหมายแถมอ่านหนังสือที่อธิบายขยายตัวบทเพิ่มเพื่อทำความเข้าใจ หรืออ่านแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ทำให้เราเข้าใจว่าบทกฎหมายที่มีอยู่นำไปปรับใช้ยังไง สิ่งเหล่านี้เลยทำให้เราต้องอ่านหนังสือเยอะในระดับหนึ่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเรามองว่าเป็นคณะที่ไม่ได้อ่านหนังสือเยอะขนาดนั้น เพราะเราเรียนด้วยความเข้าใจถ้าเราเรียนอะไรด้วยความเข้าใจแล้วก็ไม่จำเป็นต้องอ่านแล้วท่องจำ

เรื่องการอ่านหนังสือ "อ่านเยอะแล้วจะจำเยอะ" ขอตอบว่ามันไม่จริง เพราะถ้าเรียนด้วยความเข้าใจแล้วความจำจะถูกเอามาใช้โดยอัตโนมัติเองถ้ามีเนื้อหารายละเอียดเยอะเราก็กลับไปเปิดหนังสือประมวลดู เพราะการทำงานของอาชีพสายกฎหมายก็ยังคงต้องเปิดประมวลดูอยู่  เพียงแค่เราเข้าใจหลักการและรู้ว่ามันมีอยู่ส่วนในเรื่องของรายละเอียดเราก็ค่อยกลับไปเปิดดูได้แต่การสอบไม่สามารถเปิดหนังสือประมวลได้ก็ต้องอาศัยการจำบ้างในบางส่วน


จุฬา
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเรามองว่าเป็นคณะที่ไม่ได้อ่านหนังสือเยอะขนาดนั้น เพราะเราเรียนด้วยความเข้าใจถ้าเราเรียนอะไรด้วยความเข้าใจแล้วก็ไม่จำเป็นต้องอ่านแล้วท่องจำ

ทำไมถึงเลือกประกอบอาชีพเป็นอัยการ ? 

ย้อนกลับไปตอน ม.6 พี่กำลังเลือกคณะเรียนว่าเราจะทำอาชีพอะไรดี? แล้วยิ่งการเลือกอาชีพมันเป็นขั้นกว่าของการเลือกคณะ  เพราะตอนเราหาคณะเราอยู่กับมันใช้เวลาเรียน 4 ปี ถ้าเราไม่ชอบสายนี้ตอนจบมาก็สามารถไปหาอาชีพอื่นทำได้แต่ถ้าเราเลือกอาชีพไหนแล้วทุกคนก็คงอยากจะประกอบอาชีพที่เลือกตั้งแต่แรกมันเลยทำให้เราต้องใช้ความคิดเยอะว่าจะเลือกอาชีพไหน เลือกแล้วจะเหมาะสมกับเราไหม?

ทำให้มองย้อนกลับมาที่ตัวเราเอง ด้วยตัวลักษณะเนื้องานแต่ละอาชีพเป็นยังไง ไปสอบถามรุ่นพี่หรือนั่งพูดคุยกับคนที่ประกอบอาชีพนั้นๆ อยู่  เช่น ทนายเป็นยังไง ผู้พิพากษาหรืออัยการเป็นยังไงหรือติวเตอร์เป็นยังไงบ้าง ถามเพื่อให้เรารู้ตัวเนื้องานสิ่งที่เราจะเข้าไปทำ เราต้องใช้ชีวิตในลักษณะแบบไหน หลังจากนั้นเราก็เอามาถามตัวเองว่าคนอย่างเรา นิสัยแบบเราและลักษณะอย่างเราเหมาะกับการทำงานในลักษณะนั้นๆ ไหม?

พอนำมาเปรียบเทียบกันก็ทำให้ได้คำตอบว่าเราเหมาะสมกับอาชีพนี้ไหม  ซึ่งวิธีนี้พี่อยากจะแนะนำน้องๆ ทุกคนในการเลือกอาชีพตลอด เราได้ใช้ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ ได้เป็นตัวของตัวเอง ทำแล้วมีความสุข แต่ในสายกฎหมายก็จะมีการเปรียบเทียบคุณค่าทางอาชีพอย่างเช่น เรียนกฎหมายอาชีพมันดี หรืออาชีพนี้น่านับถือซึ่งในสายกฎหมายจะมีคำพูดในลักษณะนี้อยู่พี่เลยอยากแนะนำว่าอย่าไปสนใจค่านิยมของสังคมแล้วเอามาเลือกอาชีพที่เราจะประกอบอาชีพ เพราะทุกอาชีพล้วนมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน คุณแค่เลือกอาชีพที่เหมาะกับตัวเอง ทำแล้วมีความสุข ไม่ว่าสังคมจะมองคุณยังไงมันก็เป็นแค่เรื่องภายนอกหรือเรื่องสุดท้ายที่มันจะเกิดขึ้นด้วยซ้ำแต่คนที่ต้องอยู่กับงานและทำงานตลอดมันคือตัวเรา เพราะฉะนั้นเลือกในสิ่งที่เหมาะกับตัวเอง ทำแล้วมีความสุข ไม่ต้องไปทำตามความคาดหวังของใครที่อาจทำให้เรากดดันได้เพราะสุดท้ายเราต้องเป็นคนอยู่กับมันไปตลอด

การเป็นอัยการจะมีหน้างานหลายส่วน อย่างส่วนที่ทำหน้าที่เป็นโจทก์ในคดีอาญาทำให้เราได้เจอผู้คนหลากหลาย ตำรวจ ศาล โจทก์ จำเลยและได้เจอผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดี ได้เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมในการทำหน้าทีจุดนี้ในฐานะข้าราชการ มันทำให้เราได้เห็นชีวิตของคนอื่นพอรวมเหตุผลเข้าด้วยกันแล้วก็ตอบโจทย์สำหรับเรา ณ วันนี้ เราสามารถถามตัวเองได้ตลอดเวลาไม่จำเป็นที่คนเราต้องทำอาชีพแรกตลอดไปหรือทำอาชีพเดียวไปตลอด ถ้าทำอะไรแล้วมันใช่ มีความสุข ก็ทำต่อไปตรงกันข้ามถ้าทำแล้วไม่ใช่ ไม่มีความสุข เราก็สามารถเลือกใหม่ได้ค่ะ


อัยการ, อัยการเบอร์ดี้
ถ้าทำอะไรแล้วมันใช่ มีความสุข ก็ทำต่อไปตรงกันข้ามถ้าทำแล้วไม่ใช่ ไม่มีความสุข เราก็สามารถเลือกใหม่ได้ค่ะ

ได้อ่านบทสัมภาษณ์จากอัยการเบอร์ดี้แล้วหวังว่าน้องหลาย ๆ คนจะได้แรงบัลดาลใจกันนะครับ

แต่บทสัมภาษณ์ของเรายังไม่หมดเพียงเท่านี้น้อง ๆ สามารถเข้าไปดูบทสัมภาษณ์ในรูปแบบวีดีโอได้ทางช่องทาง Tiktok และ Instagram อย่าลืมกดติดตาม กดแชร์ และกด like เพื่อให้กำลังใจทีมงานทุกคนกันด้วยนะครับ

ดู 73 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Comments


bottom of page