top of page
รูปภาพนักเขียนloubver

ระบบ รัฐ การศึกษา

“เรียนๆ ไปเถอะแกมีโอกาสได้เรียนก็ดีเท่าไหร่แล้ว”

ประโยคนี้หลายๆ คนคงเคยได้ยินจากผู้ใหญ่หลายๆ ท่านทั้งได้รับสารนี้ด้วยตัวเอง หรือคงเคยได้ยินตามหนังสักเรื่องแหละ มั่นใจเลยว่าหนึ่งครั้งในชีวิตทุกคนคงเคยได้ยินประโยคประมาณนี้สักครั้งนึง ไม่รู้ว่าหลายคนได้ยินประโยคนี้แล้วตีความว่ายังไงแต่ประโยคทำนองนี้ทำให้เห็นได้เลยว่าในประเทศไทยระบบการศึกษาไม่ได้เข้าถึงทุกชนชั้น

นอกจากการเรียนไม่ได้เข้าถึงทุกชนชั้นแล้ว การเรียนในหลักสูตรที่ตัวเองต้องการยังคงไม่ได้เข้าถึงทุกคนอีกอยู่ดี เห้อ...ในประเทศนี้แค่อยากเรียนรู้ในสิ่งที่ชอบมันไม่พอจริงๆ เนอะ วันนี้ฉันคงไม่ได้แค่มาบ่นระบบการศึกษาในไทย แต่จะมาเปิดมุมมองเรื่องความเหลื่อมล้ำในการศึกษาของบุคคลที่มีบทบาทในการศึกษากันค่ะ

ปีกาญ นามสมมติ เด็กสาววัย 15 กับระบบการศึกษาไทย

“สวัสดีค่ะ เราเป็นเด็กอายุสิบห้าจะสิบหกปีนี้ค่ะ ปีนี้อยู่ม.3กำลังจะขึ้นม.4 จริงๆ เราไม่ได้เป็นคนที่เดือดร้อนกับความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาสักเท่าไหร่ แต่เราคิดว่าในอายุแค่นี้กับสิ่งที่เจอมาก็คงเรียกว่าเห็นความเหลื่อมล้ำในระบบนี้มาเยอะเลยแหละ ความเหลื่อมล้ำแรกในการศึกษาที่ฉันเจอก็คงเป็นการที่ฉันได้เรียนในโครงการพิเศษ แต่ลูกพี่ลูกน้องของฉันไม่ได้เรียน ไม่ใช่เพราะเขาสอบไม่ได้นะคะแต่เพราะครอบครัวของเขามีกำลังทรัพย์ไม่พอค่ะ หลังจากได้เรียนในโครงการพิเศษก็ได้เห็นอะไรที่ไม่ make sense สักเท่าไหร่อย่างพวกกฎในโรงเรียนที่ห้ามใส่เสื้อกันหนาวแต่ให้เด็กที่เรียนในห้องแอร์ใส่ได้ หรือพูดง่ายๆว่ากฎนี้ให้พวกฉันใส่เสื้อกันหนาวได้ และช่วงนี้ฉันกำลังสอบเข้าอยู่แต่ฉันเป็นเด็กต่างจังหวัดโรงเรียนที่จะสอบเข้าอยู่ในกทม. ครอบครัวฉันไม่ได้มีปัญหากับการที่จะไปอยู่ที่นั่นแต่สำหรับการสอบเข้าในครั้งนี้นอกจากการที่ต้องใช้เงินเรียนพิเศษแล้วยังต้องจ่ายค่าเดินทางอีกตั้งหลายบาทได้แต่เพื่อนที่ฉันสนิทด้วยต่อที่เดิมไม่ใช่เพราะเขาไม่อยากต่อที่เดียวกับฉันแต่เขามีเงื่อนไขอื่นๆ อีกเหมือนกัน เราเคยคุยกันว่าถ้าโรงเรียนทุกโรงเรียนในไทยไม่ได้มีผลต่อการสอบเข้ามหาลัยฉันก็คงได้เรียนใกล้บ้านกับเพื่อนที่สนิทต่ออีก”

หลังจากที่ได้พูดคุยปีกาญฉันได้เกิดคำถามหลายอย่าง เลยอยากทราบมุมมองของคนในระบบดูบ้าง ได้ความว่ายังไงไปอ่านพร้อมๆกันค่ะ


นุชพรรณ นามสมมติ คุณครูจบใหม่วัย 20 ต้นๆกับระบบการศึกษาไทย

“ข้อแรก ครูเห็นด้วยนะคะที่ห้องโครงการกับห้องปกติแสดงให้เห็นความเลื่อมล้ำ การที่มีห้องเรียน หรือกฎต่าง ๆ แต่ความเลื่อมล้ำมันอยู่ในทุกสังคมซึ่งขณะนี้เราเห็นในสังคมโรงเรียนแต่ถ้าเรามองจุดประสงค์ ทางโรงเรียนได้ตั้งห้องโครงการขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะด้านนั้นๆ แค่อีกนัยนึงก็เอาเงินที่ได้จากตัวโครงการนี้ มาใช้พัฒนาในส่วนอื่นๆ ของโรงเรียน มันเป็นกลวิธีของผู้บริหาร ที่เอาเงินจากคนรวยมาช่วยคนจน ส่วนนี้ไม่ใช่ทั้งหมดแต่สามารถช่วยได้จำนวนนึง ความเลื่อมล้ำมันพบได้ในสังคมโลกทุนนิยม ใครประสบความสำเร็จ รวย มีเงิน ถ้าระบบการจัดเก็บภาษีดี มันก็ช่วยลดเรื่องนี้ได้ กลับเข้ามาในเรื่องการศึกษาต่อเรื่องกฎอื่นๆ มันก็ดูที่บริบทนะเรื่องเสื้อกันหนาวที่เขาให้เด็กโครงการใส่เพราะเขาเรียนห้องแอร์ แล้วมันหนาวเลยให้ใส่ได้ และที่เด็กปกติใส่ไม่ได้ เพราะมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยของนักเรียนในกรณีที่มีคนใส่เสื้อกันหนาวมาเพื่อจะทำร้ายนักเรียนอย่างงี้อะ ส่วนข้อที่สอง การศึกษาไทย กับเรื่องทุนนิยม มันขึ้นอยู่กับความอยู่รอดของสถาบันการเรียนอย่างมหาวิทยาลัย หรือโรงเรียนอ่า บางโรงเรียนได้ทุนสนับสนุนน้อยมาก ดังนั้นจึงต้องพึ่งพาเงินจากอื่นๆ การเก็บเงินเข้าถึงถือเป็นรายได้อีกทางนึง ถามว่าควรให้ทุกคนเท่าเทียม เสมอภาคได้ไหม ที่จริงทำได้นะ ถ้ารัฐสนับสนุนมากพอ เพราะสถาบันต่าง ๆ ก็ต้องพัฒนาตัวเองเพื่อดึงดูดนักเรียน ให้มาเรียน ดังนั้นมันมีค่าใช้จ่าย การที่โรงเรียน เอื้อต่อคนที่มีเงิน มีอำนาจ มันก็เกิดขึ้นจากระบบนี่แหละทุกสิ่งอย่างขึ้นอยู่กับประชาชน และรัฐ ถ้ารัฐบริหารดี ประชาชนร่วมมือครูว่าการศึกษาไทยก็สามารถทำให้ทุกพื้นที่เป็นการศึกษาที่ดีได้”

การสัมภาษณ์คุณครูในครั้งนี้ยอมรับเลยว่ามันทำให้คนแบบฉันได้มองเรื่องนี้ในมุมที่หลากหลายขึ้น

ต่อไปมาดูคนที่สำคัญในการศึกษาแต่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษากันค่ะ

คุณครูพี่ก้อ (ธิปัตย์ ภักดีเศรษฐกุล) ติวเตอร์สอนพิเศษกับระบบการศึกษาไทย

“ การสอบเข้ามหาลัยเอื้อให้คนมีเงินใช่ไหม ถ้าให้ตอบแบบตรงไปตรงมาคือ ใช่!

แต่ก็ไม่ใช่ว่า น้องนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่ร่ำรวย จะประสบความสำเร็จในการสอบเข้ามหาลัยในประเทศนี้เสมอไป ถ้าไม่ได้มีสำนึกที่ดี หรือไม่มีความรับผิดชอบเพียงพอ ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จตามความตั้งใจได้แต่ก็แน่นอนว่า น้องนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่ร่ำรวย ย่อมจะหาช่องทาง หรือมีโอกาสมากกว่าอยู่ดี เช่น การเลือกเรียนในมหาวิทยาลัยเอกชนที่ไม่ต้องไปกังวลเรื่องค่าเทอม ค่าหน่วยกิต หรือ การเลือกไปเรียนต่อยังมหาวิทยาลัยในประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นต้น

สำหรับเรื่องความเหลื่อมล้ำ ที่เกิดขึ้นสำหรับการสอบเข้ามหาลัยนั้น ผมในฐานะ “ ติวเตอร์คณิตศาสตร์ ” โรงเรียนกวดวิชาสำนักคณิตศาสตร์ครูพี่ก้อ ขอให้ความเห็น เล่า อธิบาย เฉพาะในเรื่องความจำเป็นในการ “ เรียนพิเศษ ” เท่านั้น


เมื่อ 4 ปีก่อน ผมได้มีโอกาสรู้จักน้องนักเรียนที่กำลังจะขึ้น ม.6 คนหนึ่ง โดยที่เพื่อนของเขา แนะนำมาว่า

“ น่าสนับสนุน ” เมื่อผมสอบถามพูดคุยด้วยแล้วทำให้ทราบว่า น้องไม่เคยเรียนพิเศษอะไรเลยตั้งแต่ ม.1 จนถึงกำลังจะขึ้น ม.6 และน้องทำผลการเรียนเรียนได้อยู่ห้อง 1 (King) มาตลอด

ซึ่งน้องยืนยันว่าทำเพียงแค่ “ ตั้งใจเรียนในห้อง ” และหาหนังสือเสริมมาฝึกทำโจทย์ ศึกษาด้วยตัวเองต่อ

ที่น่าทึ่งกว่านั้น คือ ในบางวันก่อนมาโรงเรียน น้องต้องตื่นตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น เพื่อช่วยครอบครัวทำงานด้วยแต่ ณ ตอนนั้น น้องก็บอกเองว่า “ ไม่มั่นใจว่าความรู้ในห้องเรียนจะพอสำหรับโจทย์สำหรับสอบเข้ามหาลัยไหม ”ผมช่วยให้น้องได้เรียน“ คอร์สเนื้อหาคณิตศาสตร์ ม.6 ”โดยไม่คิดค่าเรียน

( ผมได้รับ แคนตาลูป หรือ อะไรสักอย่าง ที่ครอบครัวน้องปลูก เป็นน้ำใจตอบแทน 1 หรือ 2 ผล ผมจำไม่ได้) และถือเป็นการเรียนพิเศษครั้งแรกในชีวิตของน้อง น้องเรียนคอร์สนี้จนจบครบทุกวินาที ซึ่งผมกล้าพูดเลยว่า มีไม่กี่คนที่เห็นคุณค่าของการเรียนจนครบแบบนี้ นอกจากนั้นน้องได้เสิร์จหาข้อมูลคลิปวีดีโอ และข้อสอบเก่า มาฝึกทำเองเพิ่ม รวมทั้งตั้งใจเรียนทุกการติวที่ รร. จัดติวให้ฟรี ในทุกครั้ง

สรุปว่า คะแนนสอบในวิชาคณิตศาสตร์ ( PAT1 ) ในปีนั้น น้องท็อป 8,000 คนประเทศไทย จากคนเข้าสอบประมาณ 170,000 คน ซึ่งคะแนนสอบของน้อง ทำได้มากกว่าน้องนักเรียนผมอีกหลายท่านที่เรียนกับผมด้วยกันมาตลอด 3 ปี ม.ปลาย เสียอีก

ประเด็นที่ต้องการจะสื่อ เป็นสิ่งที่ผมบอกน้อง ๆ นักเรียนผมอยู่เสมอ ว่า

“ การเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือ การเรียนรู้ด้วยตัวเอง ” ถ้าน้องนักเรียนมีความรับผิดชอบตัวเองมากพอ สามารถจัดสรรแบ่งเวลาตัวเองได้ดี ก็ไม่จำเป็นต้องมาเรียนพิเศษก็ได้

เพียงแต่การเรียนรู้ ศึกษาด้วยตัวเองนั้น ต้องใช้เวลาเยอะมากกว่าจะสามารถสรุปประเด็นสำคัญจริง ๆ ได้ หรือมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้จริง ๆ ได้

การมาเรียนพิเศษนั้น “ ติวเตอร์ ” จะทำหน้าที่ในการ “ ย่อย ” และ สรุปประเด็นสำคัญให้เลยในทันดี ทำให้ย่นระยะเวลาในการศึกษาด้วยตัวเองลงได้มาก

ยิ่งในทุกวันนี้ ในระบบการศึกษาของเรา นักเรียนต้องใช้เวลาไปกับการทำชิ้นงาน หรือ การบ้าน เพื่อส่งครูอย่างมากมายก่ายกองในแต่ละวัน

และผมก็ย้ำกับน้อง ๆ นักเรียนผมเสมอว่า

“ วิชาคำนวณ ถ้ามาเรียนแล้ว ไม่มีเวลากลับไปนั่งฝึกทำด้วยตัวเอง ทบทวนด้วยตัวเองอีกรอบ ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ”

แต่ประเด็นสำคัญจริง ๆ ที่ทำให้เกิดการเรียนพิเศษสำหรับเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย คือ เนื้อหา หรือ แนวโจทย์ ที่ใช้สำหรับการสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยนั้น เราต้องยอมรับว่า มันมีเนื้อหา หรือ มีแนวโจทย์ ที่นักเรียนไม่สามารถมีโอกาสเจอได้ในโรงเรียน หรือ ไม่เคยมีอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการในโรงเรียนเลย

นี่คือสิ่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่แท้จริง ระหว่างคนที่เรียนพิเศษ กับคนที่ไม่เคยมีโอกาสได้เรียนพิเศษเลย ทำให้คนที่ไม่ได้เรียนพิเศษเลยต้องใช้ความพยายามทุ่มเทที่มากยิ่งขึ้นหลายเท่า ”



จากการแลกเปลี่ยนมุมมองกับคุณครูนุชพรรณและคุณครูพี่ก้อในครั้งนี้สำหรับฉันมันทำให้เห็นมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น บทความนี้เกิดขึ้นมาจากการที่ฉันได้รับรู้เรื่องราวของปีกาญจึงอยากทราบมุมมองอื่นๆ ของคนในระบบ และมีโอกาสได้พูดคุยกับพี่ๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับการศึกษา เลยอยากแบ่งปันให้ทุกคนได้มราบมุมมองอื่นๆ เหมือนกับฉัน บทความนี้มีเจตนาจะมาแบ่งปันมุมมองอื่นๆ เท่านั้น หวังว่าบทความนี้จะเป็นส่วนนึงในการจุดประกายอะไรบางอย่างในตัวทุกคนและมาร่วม


ส่งเสียงเหล่านี้ให้ถึงผู้ใหญ่ในสังคมกันนะคะ :)


ทาง jb lawcenter ขอขอบคุณ น้อง ปีกาญ คุณครูนุชพรรณ

และ ติวเตอร์ครูพี่ก้อ ที่ทำให้เกิดบทความนี้ขึ้นนะคะ


อ่านบทความการแสดงความคิดเห็นในเรื่องอื่นๆ

หรือสนใจคอร์สเรียนพิเศษสไตล์คุณครูพี่ก้อได้ที่ :

ธิปัตย์ ภักดีเศรษฐกุล (Tutor Khor)


ติดตามข้อมูลอื่น ๆ ได้ที่ :

หรือ


ดู 13 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Σχόλια


bottom of page